บทความ
พ่อจากไปแต่คำสอนพ่อยังอยู่ เรื่อง ความพอเพียง

  “…เก็บผักเก็บปลากิน ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้าง ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน 2-3 ต้น พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือน เหลือจึงนำไปขาย ไม่ฟุ่มเฟือยไปซื้อของแพงๆ มาใช้…”
 
                พระราชดำรัส ตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสไว้ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยรู้จักใช้ชีวิตแบบพอเพียง รู้จักกินรู้จักใช้ ที่สำคัญพระองค์ทรงอยากให้คนไทย นำสิ่งนี้ไปปฏิบัติจนเป็นนิสัย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540
 
               โดย “การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เป็นแนวทางหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงห่วงใย และตรัสอยู่เสมอว่า บ้านเมืองของเรานั้นเป็นสังคมเกษตรกรรมไม่ใช่สังคมอุตสาหกรรม ให้ใช้ทรัพยากรฯ เหล่านั้นอย่างคุ้มค่าอย่าฟุ่มเฟือย 

อย่าลืมสิ่งที่บรรพบุรุษของเราหวงแหนปกป้องผืนแผ่นดินมาอย่างอยากลำบาก อย่าเห็นแก่ความร่ำรวย จนนำที่ดินทำมาหากินขายเพื่อที่จะถมที่สร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าคนไทยยังเห็นแก่ความร่ำรวยที่ฉาบฉวยประเทศของเราคงสิ้นที่ดินทำมาหากิน จากเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ กลับกลายเป็นว่าเราต้องซื้อของกินจากต่างประเทศคงเป็นแน่!!
 
               ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ “ในหลวง” ท่านทรงสอนในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ก็เพื่อต้องการให้คนไทยรู้จักที่จะดำเนินชีวิตในสังคมด้วยความสามารถที่จะอุ้มชูตัวเองได้ โดยที่ตัวเองและคนอื่นนั้นไม่เดือนร้อน... อีกทั้งต้องดูแลตัวเองและครอบครัวให้มีความพอมี พอกิน พอใช้ ไม่หวังที่จะร่ำรวยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาเพียงเท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงของทุก อาชีพ ที่อยู่ในเมืองและอยู่ชนบท...

 ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541 ที่ว่า
 
                “...ให้พอเพียงก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ…”
 
               หากคนไทยอยากที่จะดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเพียงยึดหลักง่ายๆ ตามพระราชดำรัสของในหลวงที่ทรงตรัสให้ประสกนิกรของท่านได้นำไปปฏิบัติตาม ที่ต้องยึดถึงความประหยัดในเรื่องของค่าใช้จ่ายลดความฟุ่มเฟือยในทุกๆ ด้าน ประกอบอาชีพด้วยความสุจริตแม้ตัวเองนั้นจะอยู่ในภาวะที่ขัดสนเพียงใดก็ตามและต้องไม่แก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ ทำการค้าขายไม่ซื่อตรงจากใคร หากสามารถปฏิบัติตามที่พ่อหลวงท่านตรัสไว้ได้ละก็ ไม่ต้องที่จะกลัวว่าตัวเองหรือครอบครัวจะเกิดความทุกข์ยากในเรื่องต่างๆ ได้เพราะนั่นหมายความว่า บุคคลคนนั้น “ได้เข้าถึงความพอเพียงแล้วอย่างแท้จริง"
 
               ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ที่ทรงตรัสว่า 
 
                “ เศรษฐกิจพอเพียง...เป็นการทั้งเศรษฐกิจหรือความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข….
 
              ทั้งหมดนี้พูดอย่างนี้ ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ใครต่อใครก็ต่อว่า...ว่าไม่มี จะว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่าประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง…” 
 
              หากประชาชนชาวไทยตั้งใจฟังพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอย่างมีสติก็จะเห็นว่า แท้จริงแล้วทรงเตือนพวกเราถึงเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างประหยัด พอเพียง และเรียบง่ายมาเป็นเวลานานแล้ว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคงต้องเริ่มจากตัวเองเสียก่อน คือ ทุกคนต้องปรับพฤติกรรมการเป็นอยู่ของตัวเองให้มีชีวิตบนความพอดี พอเพียง ประหยัด อดออม อยู่อย่างเรียบง่าย จะได้ไม่แสวงหาประโยชน์บนความสกปรก ง่ายที่สุดก็คือ "ต้องประหยัด"

 ชาวไทยนั้นโชคดีที่มีตัวอย่างในเรื่องของความประหยัด เพราะพ่อหลวงของเรานั้นทรงเป็นแบบอย่างให้คนไทยมาโดยตลอด อย่างที่ทราบกันว่าท่านทรงประหยัด ซึ่งเป็นพระอุปนิสัยที่ติดพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถ ทรงฝึกให้พระราชโอรสและพระราชธิดา รู้จักวิธีการประหยัด อดออม ด้วยการตั้งกระป๋องออมสินไว้กลางที่ประทับ ทรงเรียกว่า กระป๋องคนจน โดยเมื่อถึงสิ้นเดือนจะทรงประชุมทั้ง 3 พระองค์ว่า จะนำเงินก้อนนี้ไปทำประโยชน์ อย่างไร หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจนอย่างไร

 สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวในพระราชสำนัก หรือจากสารคดีเฉลิมพระเกียรติก็จะเห็นบ่อยอาจสงสัยว่า ทำไมพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ดินสอที่เหลือสั้นกุดนิดเดียว ใครจะนำไปทิ้งไม่ได้ เพราะจะทรงกริ้วอย่างมาก หรือแม้แต่ฉลองพระองค์สูทหรือเบลเซอร์ ถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า จะทรงสูทองค์เดิมให้เห็นซ้ำๆ บ่อยๆ แม้ว่าจะเสด็จฯ ในต่างสถานที่และต่างเวลา ทั้งนี้ก็เพราะทรงประหยัด ทรงใช้สิ่งของต่างๆ อย่างคุ้มค่าและทะนุถนอม

    แม้กระทั่งฉลองพระบาทที่ทรงใช้เวลาเสด็จฯไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ก็จะทรงฉลองพระบาท องค์เดิม ไม่ใช่ยี่ห้อยอดนิยมหรือมีราคาแพงเลย ราคาไม่กี่ร้อย คู่ไหนชำรุดก็ทรงส่งซ่อมร้านเล็กๆ ใกล้ๆ วัง ทรงใช้ได้คุ้มราคาคุ้มค่าที่สุด และการที่คณะทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เคยนำภาพหลอดยาสีพระทนต์ที่ทรงใช้แล้วมาแสดงให้ดู ทรง รีดเสียแบนราบ แม้ถึงกระเปาะใกล้จุก ซึ่งอย่างดีเราก็เอานิ้วกดๆ จนคิดว่าหมด แต่ของพระองค์ทรงกดจนแบนติด เรียกว่าหมดเกลี้ยงจริงๆ
 
              เรื่องความประหยัดนั้นพระองค์ท่านมีพระราชดำรัสพระราชทาน ประชาชนชาวไทยตอนหนึ่ง เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2502 ไว้ว่า...
 
               “…การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”
 
              ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระองค์ โดยยึดแนวทางแห่งการประหยัด พอเพียง ทรงมีเพียงเรื่องเดียวที่ไม่ได้ทรงประหยัดเลยก็คือ น้ำพระทัย และพระราชดำริที่พระราชทานมาตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรไทยให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง อยู่ดีกินดี และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขกันถ้วนหน้า
 
              ปัจจุบันคนลุ่มหลง ไม่เอาความพอเพียงมาใช้ คนนิยมวัตถุ เอาความร่ำรวยมานิยม ไม่นิยมทำความดี การเดินบนเส้นทางสายกลาง มุ่งชีวิตไปสู่ความสุข อย่าไปสู่ความสนุก แยกแยะให้ถูก ตรึกตรองให้ดีว่าการที่มีรถใหญ่ๆ บ้านโตๆ นั้นเป็นความสุขแล้วเหรอ...เพราะแท้ที่จริงนั้นความสุขของคนเราอาจเพียงแค่ได้อยู่บ้านเล็กๆ กับครอบครัวที่อบอุ่น ก็มีความสุขก็ได้แล้วไม่ใช่หรือ...ลองหันกลับมาคิดดู!!
 
              ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชนชาวไทยทรงปฏิบัติตนให้เห็นแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องฟุ่มเฟือย พระองค์ก็สามารถมีความสุขได้ แล้วประชาชนอย่างเราๆ ละ ทำไมถึงจะทำอย่างที่พระองค์ทรงทำไม่ได้...
โพสเมื่อ : 05 ม.ค. 2560,06:04   อ่าน 1511 ครั้ง